Saturday, June 02, 2007

พระพทธรูป ภ.ป.ร


พระพุทธรูป ภ.ป.ร. มีต้นกำเนิดมาจากพระพุทธรูปฉลองเจ็ดสิบสองปีศิริราช ที่สร้างขึ้นในโอกาสจัดงานฉลองครบรอบ 72 ปี ศิริราชพยาบาล เมื่อ พ.ศ. 2505 โดยมีพระธรรมจินดาภรณ์ วัดราชบพิตร ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านพุทธศิลปและการสร้างพระพุทธรูปเป็นผู้ออกแบบร่วมกับ นายโต ขำเดช ช่างปั้นพระพุทธรูปประจำโรงงานหล่อพระของนางฟุ้ง อันเจริญ บ้านช่างหล่อ ย่านฝั่งธนบุรีซึ่งเป็นช่างหล่อ พระพุทธรูป ฝีมือดีคนหนึ่งในยุคนั้น

พระพุทธรูปฉลองเจ็ดสิบสองปีศิริราช จัดสร้างเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร มีพุทธลักษณะงดงามมากคล้ายพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย ประทับนั่งเหนือฐานบัวค่ำบัวหงาย แบบฐานบัว สมัยสุโขทัย (ถอดแบบจากองค์รองรับอีกชั้นหนึ่ง) ได้จัดสร้างขึ้นเป็น 2 ขนาด คือขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว และขนาดหน้าตักกว้าง 5 นิ้ว รวม 230 องค์ พระพุทธรูปปางประทานพรของศิริราชพยาบาลดังกล่าวข้างต้นนี้ นับเป็นต้นแบบของพระพุทธรูป ภ.ป.ร.โดยแท้

ต่อมาในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทอดพระกฐินต้น ณ วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ 2506 ทางวัดโดยพระเทพมงคลรังษี เจ้าอาวาสในขณะนั้น พร้อมด้วยคณะกรรมการวัด มีความเห็นร่วมกันว่าสมควรสร้างพระพุทธรูปปางประทานพรไว้เป็นที่ระลึก และเพื่อให้ประชาชนได้มีไว้สักการะบูชา โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติ อัญเชิญตราพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดับบนเหนือผ้าทิพย์ ขององค์พระพุทธรูปด้วย ซึ่งก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราช ทานพระบรมราชานุญาติให้ตามความประสงค์ของทางวัด


พระพุทธรูปของวัดเทวสังฆาราม ที่สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2506นี้ ได้ใช้แบบพระพุทธรูปฉลอง เจ็ดสิบสองปี ศิริราชเป็นหลัก โดยพระธรรมจินดาภรณ์เป็นผู้คิดแบบ และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมแบบเล็กน้อย เช่นการแก้พระหัตถ์ขวาที่พาดลงเป็นให้นิ้วพระหัตถ์กระดิกขึ้นพระวรกายและพระพักตร์ งามกว่าเดิม และให้ออกไปทางแบบพระพุทธปฏิมาแลดูสง่าและงดงามยิ่งขึ้น

พระพุทธรูป ภ.ป.ร. ปี พ.ศ. 2506 ของทางวัดสังฆรามนี้ได้นำ เอาพุทธลักษณะที่ดีเด่น ของพระพุทธรูปทั้งสามสมัย ของลังกา,เชียงแสน และสุโขทัย มาร่วมผสมผสานกัน สร้างเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง เหนือดอกบัวค่ำและบัวหงายบนฐานเท้าสิงห์พาดพระหัตถ์ขวาหงายบนพระเพลาอันหมายถึงปางประทานพร ประดับพระทิพย์ด้วยตราพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. นับเป็นพระพุทธรูปแบบใหม่พิเศษแห่งยุคปัจจุบัน ที่มีสัญญลักษณ์ขององค์พระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ อันเป็นมิ่งขวัญและหลักชัยของชาติรวมอยู่ด้วยอย่างพร้อมบูรณ์นับเป็นก้าวใหม่และก้าวสำคัญของการพัฒนา การสร้างพระพุทธรูปในประเทศไทย และสมควรอย่างยิ่งที่จะยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูป สมัยรัตนโกสินทร์ ยุคปัจจุบันโดยแท้

พระพุทธรูป ภ.ป.ร. จึงถือ กำเนิดขึ้นมา โดยนัยนี้

พระพุทธรูป ภ.ป.ร. ของวัด เทวสังฆาราม สร้างขึ้นเป็นพิเศษเพื่อประดิษฐานไว้ที่วัดเอง ขนาดหน้าตักกว้าง 22 นิ้ว 1 องค์ และ น้อมเกล้า ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขนาดหน้าตักกว้าง 12 นิ้ว1 องค์ส่วนที่สร้างสำหรับประชาชนนำไปสักการะบูชา มี 2 ขนาด คือขนาดหน้าตัก กว้าง 9 นิ้ว และ 5 นิ้ว จำนวนที่สร้างขึ้นรวมหมดทุกขนาดในคราวนั้นจำนวน 3,618 องค์ การหล่อสร้างองค์พระได้สำเร็จลุล่วงบริบูรณ์ โดยได้ทำพิธีปลุกเสก ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2507 และเริ่มแจกจ่ายให้ประชาชนที่สั่งจอง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ 2507 เป็นต้นไปจึงนับได้ว่าเป็นการสร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ครั้งแรกอย่างแท้จริง

พระพุทธรูป ภ.ป.ร. วัดเทวสังฆารามสร้างขึ้นให้ประชาชนเช่าบูชา 2 ขนาดคือ ขนาด 9 นิ้ว หล่อแบบแยกองค์กับฐานเป็น 2 ชิ้น ราคาเช่าบูชา 1,600 บาท ส่วนขนาด 5 นิ้ว หล่อแบบชั้นเดียว ราคาราคาเช่าบูชา 500 บาท

ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้นำพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ของวัดเทวสังฆาราม ไปพระราชทานแก่ทหาร-ตำรวจหน่วยราชการต่างๆฯลฯ รวมหลายแห่ง เป็นที่ชื่นชอบยินดีกันเป็นอันมาก สมเด็จพระศรีนครินทราฯจึงได้พระราชทานพระดำริว่าน่าจะได้มีการหล่อสร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ขึ้นอีก ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อสนองความต้องการของผู้ศรัทธา

โดยเหตุนี้จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการสร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ขึ้นอย่างเป็นทางการ จัดเป็นงานระดับชาติเมื่อเดือนกันยายน 2507 มีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่วมด้วยกรรมการจากหน่วยราชการและสถาบันต่างๆอีกกว่า 50 คน แล้วตั้งเป็นคณะอนุกรรมการสร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ฝ่ายต่างๆขึ้นอีกหลายคณะ คือ อนุกรรมการ ฝ่ายอำนวยการ อนุกรรมการฝ่ายโฆษณา อนุกรรมการฝ่ายพิธี อนุกรรมการฝ่ายการเงิน อนุกรรมการฝ่ายตรวจและควบคุมการก่อสร้างอีกรวม 100 คน เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้


วัตถุประสงค์ของการสร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร. เป็นครั้งที่ 2 ก็เพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯถวายเพื่อบูรณะพระโอสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินสีห็อันเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่กับพระพุทธชินราช และเป็นพระอารามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับขณะทรงผนวช ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กขึ้นที่วัดสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นพระอารามที่เริ่มดำริสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้น ส่วนหนึ่ง เพื่อพระราชทานแก่องค์การสาธารณกุศลตามพระราชอัธยาศัยส่วนหนึ่ง

ในการนี้ คณะกรรมการได้ กำหนดการหล่อสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ขนาดด้วยกัน และกำหนดราคาการสั่งจองดังนี้
พระพุทธรูป ภ.ป.ร. ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้ว รมดำ องค์ละ 1,600 บาท
พระพุทธรูป ภ.ป.ร. ขนาดหน้าตักกว้าง 5 นิ้ว รมดำ องค์ละ 500 บาท
พระกริ่ง ภ.ป.ร. สัมฤทธิ์ รมดำ องค์ละ 50 บาท

ต่อมาก็ได้มีประกาศเชิญชวนให้ข้าราชการ และประชาชนสั่งจองกันอย่างกว้างขวางแพร่หลายทั่วราชอาณาจักร ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งในหน่วยราชการ องค์การและสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพระพุทธศาสนา ช่วยดำเนินการรับจองกันเป็นงานใหญ่ยิ่งจริงๆ กำหนดเขตรับจองครั้งแรก ภายในเดือนมีนาคม 2508 ต่อมาก็ขยายเวลาจองออกมาเป็นถึง 30 มิถุนายน 2508 ในที่สุดก็เลื่อนออกมาจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2508

ปรากฏว่ามีผู้สั่งจองกันอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือ พระพุทธรูปขนาดหน้าตัก9นิ้วมีผู้จอง 4,247 องค์ ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว มีผู้สั่งจองถึง 21,449 องค์ นับเป็นการสร้างพระพุทธรูปครั้งมโหฬารใหญ่ยิ่งที่สุด ที่เคยมีมาในโลก

พระพุทธรูป ภ.ป.ร. ที่สร้างขึ้นเป็นรุ่นที่สองนี้ เดิมคณะกรรมการจะจัดสร้างตามแบบพระพุทธรูป ภ.ป.ร.รุ่นแรกที่สร้าง ณ วัดเทวสังฆาราม ทุกประการ แต่เมื่อคณะกรรมการได้นำพระพุทธรูปที่ได้ออกแบบหล่อสร้างแล้วขึ้นทูลเกล้าแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบ ให้ถูกต้องเหมาะสมกับพระพุทธลักษณะยิ่งขึ้นด้วยพระบรมราชวินิจฉัยของพระองค์เอง โดยมอบให้นายไพฑรูย์ เมื่องสมบูรณ์ นายช่างศิลป์กรมศิลปากรเป็นผู้ปั้นหุ่นพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 9 นิ้วขึ้นใหม่ ได้ทรงควบคุมการปั้นหุ่น ให้อยู่ในพระบรมราชวินิจฉัยโดยตลอด

พระพุทธรูป ภ.ป.ร. รุ่นสองนี้จึงนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูป ภ.ป.ร.อย่างสมบูรณ์แบบจริงๆ นับได้ว่าพระราชทานกำเนิดพระพุทธรูปแบบรัชกาลที่9 ไว้เป็นอนุสรณ์แก่ชาวพุทธในราชอาณาจักรไทย สืบไปชั่วกาลนาน

พระพุทธรูป ภ.ป.ร. รุ่นสำคัญที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยแก้ไขนี้มีพุทธลักษณะคล้ายคลึงใกล้เคียงไปทางพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยเป็นอันมาก จึงแตกต่างจากพระพุทธรูป ภ.ป.ร.รุ่นแรก ที่สร้าง ณ วัด เทวสังฆาราม กาญจนบุรี

นอกจากนี้ยังได้พระราชทานภาษิต สำหรับจารึกไว้ที่ฐานด้านหน้าเพื่อเป็นสัญญลักษณ์ของชาติว่า "ทยุย ชาติยา ส สมาคุติ สติสญุชานเนน โภชิสิย รกุชนุติ" คนชาติไทยจะรักความเป็นไทอยู่ ได้ด้วยมีสติสำนึกอยู่ในความสามัคคี ส่วนที่ฐานด้านหลังมีแผ่นจารึกประกอบฐานด้วยข้อความว่า "เสด็จพระราชดำเนินพิธีหล่อ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508"

ฉะนั้น พระพุทธรูป ภ.ป.ร. ที่สร้างครั้งใหญ่คราวนี้ จึงถือได้ว่าเป็นสัญญลักษณ์ของ ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ ครบบริบูรณ์พระพุทธรูปองค์นี้จึงมีคุณค่าทั้งทางศิลปะ ประติมากรรม ทางประวัติศาสตร์ และทางคุณธรรมแห่งจิตใจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไป ทรงเป็นประธานไปในพิธีพุทธาภิเษกและปลุกเสกโลหะต่างๆ ที่จะนำไปหล่อพระพุทธรูป ภ.ป.ร. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2508 แล้วเสด็จไปทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปรุ่นนี้ ณ วัดบวรนิเวศวิหารเมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508

เนื่องจากพระพุทธรูปรุ่น ภ.ป.ร.รุ่นวัดบวรนิเวศวิหาร มีผู้พร้อมใจกันสั่งจองมากมายเป็นประวัติการณ์รวมจำนวนทั้งสิ้นถึงกว่า 25,000 องค์ ประกอบกับการดำเนินงานเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันใจผู้จอง เวลา 3-4 ปีผ่านไปยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับพระพุทธรูปที่จองกันได้ง่ายๆจนถึงกับมีการต่อว่าต่อขานกันผ่านทางหน้า หนังสือพิมพ์ เมื่อการเลือกตั้ง ปี พ.ศ.2512 ผ่านไป ก็มีสมาชิกสภาผู้แทนตั้งกระทู้ถามในสภาถึงเรื่องการสร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร. นี้ ฉะนั้นพระพุทธรูป ภ.ป.ร. จึงต้องหล่อสร้างสำเร็จทะยอยออกมาเป็นรุ่นๆ มีการประกอบพิธีพุทธาภิเษกต่างกรรมต่างวาระกันไป เฉพาะอย่างยิ่งองค์ขนาดเล็กหน้าตัก 5 นิ้วนั้น รุ่นหลังต่อมาคณะกรรมการต้องมอบให้กรมธนารักษ์ สั่งซื้อเครื่องมือหล่อโลหะ ตามกรรมวิธีสมัยใหม่เข้ามาใช้เป็นครั้งแรก เพื่อหล่อสร้างให้เสร็จรวดเร็วทันต่อความต้องการของผู้จอง ซึ่งเป็นจำนวนกว่า 20,000องค์

การหล่อสร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ครั้งมโหฬารนั้นจึงต้องใช้เวลาดำเนินการนานถึง 7-8 ปีกว่าจะสำเร็จสิ้นลงไปหมด

นอกจากนั้นการหล่อสร้างตามจำนวนจองรุ่นสองนี้ ถึงกว่า 25,000 องค์แล้ว ทราบว่าทางวัดบวรนิเวศวิหารยังได้ขอพระราชทานพระบรมรานุญาติหล่อสร้างเป็นการพิเศษเพิ่มเติม เพื่อการหารายได้มาใช้จ่ายในการปฏิสังขรณ์วัดบวรนิเวศวิหารเป็นการต่างหากโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่งด้วย

พระพุทธรูป ภ.ป.ร. ปี พ.ศ. 2508 จึงนับว่าเป็นพระพุทธรูปที่ยิ่งใหญ่ มีจำนวนมากมายมหาศาลยิ่งกว่า พระพุทธรูปแบบอื่นใดทั้งสิ้นเท่าที่เคยมีการหล่อสร้างกันมาจากสมัยอดีต โบราณตราบกระทั่งถึงกาลปัจจุบัน

ในวงการนักนิยมสะสมพระทุกวันนี้ ถือกันว่าใครไม่มีพระพุทธรูป ภ.ป.ร.ไว้สักการะบูชาถือว่าไม่ใช่นักเลงพระอย่างแม้จริง

พระพุทธรูปที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอีกองค์หนึ่ง ในรัชกาลปัจจุบันทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้มีการสร้างขึ้นอีกองค์หนึ่งคือพระพุทธนวราชบพิต เพื่อทรงพระราชทานให้ประดิษฐาน ประจำจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ราษฎรของพระองค์ท่านได้สักการะ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและศูนย์รวมน้ำใจของราษฎร


พระพุทธนวรราชบพิตรพระพุทธนวรราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 23 ซม. สูง 40 ซม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะให้สร้างขึ้น เพื่อประดิษฐานไว้ ณ จังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาเขต เมื่อ พ.ศ. 2509 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายไพฑูรย์ เมื่องสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลปกรมศิลปากร เข้ามาปั้นหุ่นพระพุทธปฏิมากรนี้ในพระราชฐาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และได้ทรงตรวจพระพุทะลักษณะของพระปฏิมานั้นจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นายช่างเททองหล่อพระพุทธรูปนั้นขึ้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2509 และได้โปรดเกล้าฯให้ขนานพระนามพระพุทะรูปนั้นว่า "พระพุทธนวราชบพิตร"

ที่ฐานบัวหงายของพระพุทธนวราชบพิตรนั้น ได้ทรงบรรจุพระพุทธรูปพิมพ์ไว้ 1 องค์ (พระพิมพ์พิจิตรลดา อันพระพุทธรูปพิมพ์นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์ ประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั้งในองค์พระและจากจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัด ดังที่มีรายละเอียดอยู่ตอนท้ายนี้

พระพุทธรูปนวราชบพิตร นั้นนอกจากจะเป็นนิมิตรหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพบุชาสูงสุดแห่งพุทธศานิกชนทั่วไปแล้วยังเป็นนิมิตหมายแห่งความผุกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์พระมหากษัตราธิราชกับบรรดาพสกนิกรของพระองค์ ในทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรและพระพุทธรูปพิมพ์ซึ่งได้บรรจุไว้ที่ฐานบัวหงายนั้น ก็ประกอบด้วยวัตถุศักดิ์สิทธิ์ต่างๆอันศาสนิกชนทั่วราชอาณาจักรได้ปกิบัติชุชาสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน พระพุทธนวราชบพิตร จึงเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค๋หนึ่งในรัชกาลปัจจุบันจึงเห็นควรวางระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับพระพุทธนวราชบพิตรไว้ดังต่อไปนี้

1. เมื่อจังหวัดใดได้รับพระราชทานไปแล้ว ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้นไว้ ณ ที่อันควรในศาลากลางจังหวัด

2. เมื่อทางจังหวัดมีงานพิธีใดๆซึ่งต้องตั้งแต่บูชาพระรัตนตรัยก็ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตร มาประดิษฐานเป็นพระบูชาในพิธีนั้นๆทั้งนี้ยกเว้นพิธีที่กระทำในโบสถ์ วิหารหรือปูชนียสถานใดๆซึ่งมีพระประธานหรือมีปูนชนียวัตถุอื่นใด เป็นประธานอยู่แล้ว และยกเว้นพิธีซึ่งต้องใช้พระพุทธรูปอื่นเป็นประธานโดยเฉพาะเช่นพระพุทธคันธารราษฎร์

3. เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดเพื่อทรงเป็นประธานพระราชพิธี หรือพิธีทางจังหวัดก็ดีก็ทำให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระราชพิธีและพิธีนั้นๆทุกครั้งหากพระราชพิธีหรือพิธีนั้นๆ กระทำในพระอารามหรือในปูชนียสถาน ซึ่งมีพระประธานหรือปูชนียวัตถุอื่นใดเป็นประธานอยู่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระพระพุทธนวราชบพิตรไปประดิษฐาน ณ ที่บุชาเป็นต่างจังหวัดอีกทีหนึ่ง เพื่อทรงนมัสการ

4. เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรไปประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชา เพื่อทรงนมัสการในพลับพลาหรือที่ประทับซึ่งได้จัดไว้ในกรณีนี้หากห้องที่เสด็จพระราชดำเนินนั้นห่างไกลจากศาลากลางจังหวัดและเป็นที่ทุรกันดารไม่สะดวกแก่การคมนาคมหรือการเสด็จพระราชดำเนินนั้นเป็นการเร่งด่วน หรือเพียงเป็นการเสด็จพระราชดำเนินผ่าน ทางจังหวัดจะพิจารณาให้งดเสียก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร

5. เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ จังหวัดใด ก็โปรดให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชา ในพลับพลาหรือในที่ประทับตลอดเวลาที่ประทับแรมอยู่ และให้อัญเชิญกลับไปยังศาลากลางเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว ในการนี้ให้กองมหาดเล็กปฏิบัติเช่นเดียวกับระเบียบแบบแผนที่มีอยู่แล้ว เกี่ยวกับพระชัยนวโลหะประจำราชกาล

6. หากทางจังหวัดเห็นสมควรจะอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรออกให้ประชาชนได้นมัสการบูชาในงานเทศกาลใดๆก็ให้กระทำได้ตามแต่จะเห็นสมควร อนึ่ง การปิดทองที่องค์พระพุทธรูปนั้นอาจทำให้พระพุทธรุปเสียความงามไปได้บ้าง ถ้าหากทางจังหวัดจะได้ประดิษฐานพระพุทธนวราชบพิตรบนฐานซึ่งทำด้วยวัตถุอันอาจปิดทองได้อีกขั้น หนึ่งให้ประชาชนได้ปิดทองได้ ก็จะเป็นการเหมาะสมยิ่งนัก


นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปที่จัดสร้างขึ้นในยุครัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้ประดับพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ไว้ที่ผ้าทิพย์ เช่น พระพุทธชินราชจำลอง ภ.ป.ร. จัดสร้างโดย กองทัพภาคที่ 3 สมัยพลเอกสำราญ แพทยกุล เป็นประธานดำเนินการจัดสร้าง ณ วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. 2516 ทำการปั้นหุ่นโดย ส.จ.อ. ทวี บูรณเฃตต์ ช่างปั้นที่มีชื่อ โดยจัดสร้างจำลองขนาด 9 นิ้ว ลงรักปิดทอง ราคาจอง 3,600 บาท หลังจองราคา 5,500 บาท


พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. จำลองจากพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ปี พ.ศ. 2508 โดยจำลองจากองค์จริงทุกประการ หรือรูปแบบและขนาดยกเว้นแต่ผ้าทิพย์แทนที่จะเป็นพระปรมาภิไธยย่อภายใต้พระมหามงกุฏกลับเป็นพระสถูปเจดีย์ แบบพุกรคยา ที่วัดธรรมมงคล และมีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. เรียงกันเป็นแถวยาวอยู่ใต้ผ้าทิพย์ มีอักษรจารึกว่าโปรดเกล้าให้จำลองพระพุทธรูป ภ.ป.ร. เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 และทรงเสด็จพระราชดำเนินเททอง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2519 จำนวนที่สร้างให้ประชาชนเช่าบูชา 2 ขนาด คือ 9 นิ้ว จำนวนที่สร้างมีไม่มากนัก


พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. แบบยกพระหัตถ์ขวาเหนือพระอุระ ของวัดไทยในนครลอสแองเจลิสได้รับพระราชพระบรมราชานุญาตให้ประดับพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ไว้ที่ผ้าทิพย์ และทรงเสด็จพระราชดำเนินเททองที่วัดโพธิ์เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรแบบยกพระหัตถ์ขวาเหนือพระอุระ ที่ฐานจารึกคำว่า "พระพุทธนรเทพศาสดาทิพยนคราภิมงคลสถิต" ส่วนด้านหลังประดับรูปธงชาติไทยและธงชาติสหรัฐอเมริกา ทั้ง 2 ด้านตรงกลางเป็นธรรมจักรและจารึกเป็นภาษาไทยและอังกฤษว่า วัดไทย ลอสแองเจลีส


WAT THAI OF LOS ANGELES สร้างเป็นพระประทานประดิษฐานไว้ ณ วัดไทย ในนครลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา และได้จัดสร้างองค์จำลองขนาด 9 นิ้ว และ 5 นิ้ว ให้ชาวไทยเช่าบูชา ขนาด 9 นิ้ว ราคา 200 ดอลลาร์ ขนาด 5 นิ้ว ราคา 100 ดอลลาร์ เพื่อให้ชุมชนชาวไทยในต่างแดนโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาได้มีโอกาสเช่าบูชาไว้เพื่อเป็นศิริมงคลประจำบ้าน ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในประเทศไทย จำนวนที่สร้างไม่มากนัก และไม่ค่อนพบเห็นในประเทศไทย จึงเป็นพระพุทธรูป ภ.ป.ร. อีกองค์หนึ่งที่หาชมได้ยาก