Tuesday, September 19, 2006

บทเพลงพระราชนิพนธ์เราสู้/ต่อพงษ์

โดย ต่อพงษ์ 10 มิถุนายน 2548 08:50 น.
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9480000077065


มีคนยุให้เขียนเรื่องราวของเพลงปลุกใจรักชาติต่อ ก็ได้เลยครับ เพราะ ผมเองก็ค่อนข้างจะผูกพันกับงานดนตรีที่ว่านี้อยู่ แล้วก็ค่อนข้างสนุกกับการนึกย้อนภาพกลับไปในอดีต

ที่สำคัญเหตุการณ์ในอดีตกับเหตุการณ์ปัจจุบันนี้ เกิดความรู้สึกว่ามันคล้ายกันอย่างไรบอกไม่ถูก …

ทั้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทั้งมองเห็นว่าใครกันที่เราจะต้องสู้...แถมต้องสู้อย่างเข้มแข็งเสียด้วย

เรียนให้ทราบมาหลายสัปดาห์แล้วว่า เพลงปลุกใจที่เด็กๆ ต้องร้องในช่วง 2519-2523 ที่ร้องกันได้ดังที่สุดมีอยู่ 3 เพลง หนักแผ่นดินนั้นได้พูดถึงไปแล้ว ก็ยังเหลืออีกสองเพลงนั่นคือ ‘เราสู้’ และ ‘ทหารเสือพระนเรศวร’

เราสู้ กับ ทหารเสือพระนเรศวร นั้นเดี๋ยวนี้ไม่แน่ใจว่ายังมีหน่วยงานไหนเปิดกันอยู่หรือเปล่า เพียงแต่เมื่อก่อนถ้าใครเปิดทีวีตอนเช้า เสาร์ – อาทิตย์ ทางช่อง 3 เราก็จะได้ยินเสียงเพลง ‘เราสู้’ นี้ตลอดก่อนที่รายการการ์ตูนเพื่อเด็กในวันเสาร์จะมา หรือก่อนที่รายการธรรมมะในวันอาทิตย์จะปรากฏ

ขณะที่ ทหารเสือพระนเรศวรนั้น ผมจำไม่ได้เหมือนกันว่า ที่มาเป็นอย่างไร จะเป็นบทเพลงของหน่วยทหารเสือหน่วยไหนหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ รู้แต่ว่าพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น พระองค์ท่านถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการกู้ชาติและต่อสู้กับศัตรูภายนอกและภายในอย่างถึงที่สุดมาแล้ว

ใครเคยฟังเพลงพระราชนิพนธ์ ‘ความฝันอันสูงสุด’ คงจะจำได้ว่าเป็นบทเพลงที่ถูกแต่งขึ้นโดยมีที่มาจากความฝันของสมเด็จพระราชินีในรัชกาลปัจจุบัน ที่พระองค์ทรงฝันว่าได้พบกับพระนเรศวรเจ้าซึ่งทรงห่วงใยสถานการณ์บ้านเมืองของเราในขณะนั้นเช่นกัน

เช่นเดียวกัน ประโยค ...เปรี้ยงเปรี้ยง ดังเสียงฟ้าฟาด โครมโครม พินาศพังสลอน... ในทหารเสือพระนเรศวรก็กลายเป็นสโลแกนของพรรคชาติไทย และกลายเป็นเพลงหาเสียงของพรรคนี้ ซึ่งตอนนั้นเราถือว่าเป็นพรรคประเภทขวาตกขอบ...และเป็นหนึ่งในหัวหอกของขบวนการ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ในเวลาต่อมา

พูดถึงเรื่องนี้ก็ตลกดีอีกเหมือนกัน เพราะ ถ้าเพลงทหารเสือพระนเรศวรนั้นเป็นเพลงประจำของพรรคชาติไทย เพลงหนึ่งที่ผมไม่รู้ว่าชื่อเพลงอะไร แต่เนื้อเพลงท่อนแรกเขาขึ้นมาว่า “กูจะสู้ แม้รู้ว่าพวกกูน้อย สู้ไม่ถอย แม้รู้ว่าจะดับสลาย แผ่นดินนี้ พ่อกูอยู่ ปู่กูตาย...” ก็ถือว่าเป็นเพลงประจำของพรรคประชากรไทย ซึ่งเป็นพรรคขนาดกลางที่ยึดพื้นที่ของกรุงเทพในเวลานั้นเหมือนกัน เพราะ แกมาหาเสียงแถวบ้านผมทีไรก็ต้องเอาเพลงนี้มาเปิดกันทุกครั้ง

แล้วตอนหลังๆ จะเป็นยุคที่ตกต่ำถึงที่สุด หรือ ยุคที่ไม่มีใครเหลือในกรุงเทพเลย เขาก็ยังคงมั่นคงกับเพลงนี้อยู่

ที่ขำก็เพราะว่าเพลงนี้เป็นหอกที่แหลมคมมากของน้าหมักที่ทิ่มใส่ศัตรูในอุดมการณ์ของท่าน(พวกขบวนการตุลาคมหรือฝ่ายซ้ายซึ่งปัจจุบันเป็นใหญ่เป็นโตในรัฐบาล)...ปรากฏว่า เดี๋ยวนี้แผ่นนี้คงจะตกร่องเสียแล้ว เพราะน้าหมักกลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลนี้อย่างออกนอกหน้าทั้งวิทยุและโทรทัศน์กันได้หลายๆเวลา เป็นการผสมสานความสามัคคีของคนในชาติหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ แต่เห็นแล้วก็ขำดี

สำหรับเราสู้นั้น แม้จะไม่ถูกเอามาใช้อย่างเป็นทางการและถูกผูกขาดเป็นของใคร พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ก็เป็นที่แน่นอนว่า เพลงนี้ถูกใช้เป็นอาวุธที่แหลมคมที่จะทิ่มใครก็ตามที่คิดจะชักจูง หรือ ล้มล้างประเทศไทยไปทางใดทางหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นก็คือพวก ‘คอมมิวนิสต์’ นั่นเอง

เพลงนี้จะว่าร้องง่ายๆ ก็ง่าย แต่จะว่าร้องยากก็ว่ายากเหมือนกัน เพราะ เป็นการร้องหมู่ คือที่โรงเรียนผมนั้นมีคุณครูประเทือง ทองหล่อ ครูใหญ่ท่านเป็นคนร้องนำ แล้วพวกเราทั้งหมดก็ร้องคลอกันไป เรื่องลำบากนั้นอยู่ในท่อนก่อนจบนั่นเองครับ ที่ร้องว่า ...บ้านเมืองเรา เราต้องรักษา...นั้นแหล่ะครับ เพราะเพลงเขาจะมีจังหวะยกอยู่นิดหนึ่ง คุณครูท่านร้องไม่ผิดจังหวะหรอก จะมีก็แต่พวกเราที่พอถึงต้องร้องท่อนนี้ มักจะล่มกันทุกที เพราะ จังหวะหายใจที่ร้องกันขึ้นมานั้น มักจะขึ้นมาไม่พร้อมกันเอาเสียเลย

ย้อนกลับไปถึงที่มาของเพลงๆ นี้ จากการค้นคว้าของคุณสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ลงอยู่ในบทความ เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519 บอกว่าเพลงๆ นี้นำมาจาก พระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคม 2518 พระองค์ท่านพระราชทานไว้ดังนี้ครับ

“... เพราะว่าถ้าเรานึกว่าเดี๋ยวนี้มาถือว่าประเทศชาติของเรามีความปั่นป่วน แน่นอน มีอันตรายคุกคามแน่นอนจากทุกทิศทั้งภายนอกภายใน กำลังรู้สึกกันนะ ทุกคนรู้สึกว่าเมืองนี้ชักจะอันตราย จนกระทั่งมีบางคนเล่าลือกันว่า เก็บกระเป๋าขายของ ไปต่างประเทศเสียแล้วก็มี แต่ว่าท่านพวกนั้นที่เก็บของ ขายของ หนีออกจากประเทศ ไปเสียทีเพราะว่าเมืองไทยมันเต็มทนแล้ว...”

“... แต่ทำไมเมืองไทยอยู่ได้ ก็เพราะว่าบรรพบุรุษของเราทำมาเป็นแรมปีเป็นร้อยๆปี ทำมาด้วยความสุจริตใจ ในสิ่งที่เรารู้ในประวัติศาสตร์ว่านักรบไทยได้ป้องกันประเทศให้อยู่ นักปกครองไทยได้ป้องกันความเป็นอยู่ของเมืองไทยให้อยู่ได้ตกทอดมาถึงเรานั้นน่ะ ท่านได้ทำมาด้วยความตั้งใจให้เป็นมรดก... คือเป็นบารมี ได้สร้างบารมีมาตั้งแต่โบราณกาลมา สะสมมาเรื่อย... ขอเปรียบเทียบเหมือนบารมี นั่นคือทำความดีนี้ เปรียบเทียบเหมือนการธนาคาร... เราอย่าไป เบิกบารมีที่บ้านเมืองที่ประเทศได้สร้างสมเอาไว้ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราให้เกิน เราต้องทำบ้าง หรือเพิ่มพูนให้ประเทศชาติมีอนาคตที่แน่นอน อนาคตที่จะสามารถถือว่าชั่วลูกชั่วหลานชั่วเหลนชั่วโหลน ประเทศไทยก็ยังคงอยู่... การสร้างบารมีของบรรพบุรุษของเราแต่โบราณกาล ที่ได้รักษาสร้างบ้านเมืองขึ้นมาจนถึงเราแล้ว ก็ในสมัยนี้ที่เราอยู่ในที่ที่เรากำลังเสียขวัญกลัวก็ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวเพราะเรามีทุนอยู่...”

“...เรามีบ้านเมืองแล้ว เราต้องรักษาไม่ใช่ทำลาย ใครอยากทำลายบ้านเมืองก็ทำลายเข้า เชิญทำลาย เราสู้ แต่ว่าผู้ที่จะทำลายระวังดีๆ คือว่าผู้ที่อยากทำลายนั้นไม่ใช่ว่าเขาอยากทำลายเพื่ออะไร แต่เขาทำลายตัวเอง น่าสงสาร ส่วนมากเขาทำลายตัวเอง...”

คุณสมศักดิ์มั่นใจว่าเพลงเราสู้ต้องมาจากพระราชดำรัสนี้แน่นอน ขณะที่ประวัติอื่นๆ ที่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ บทเพลง"เราสู้" เกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่คำร้องที่นายสมภพ จันทรประภา ประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ 4 บท ใน พ.ศ. 2516" โดยที่ "คำร้องนี้นายสมภพได้ขอพระ ราชทานพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งได้จัดแข่งฟุตบอลเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯถวายโดยเสด็จพระราชกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย" (ดนตรีจากพระราชหฤทัย, หน้า 187)

"และได้ทรงพระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน" (ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์, หน้า 333) โดยท่านพระราชทานทำนองมาให้โดยใช้เวลาพระราชนิพนธ์ไม่นานนัก
แต่ไม่ว่าที่มาของเพลงๆนี้จะเป็นอย่างไร ผมก็ยังรู้สึกอยู่ดีว่า พระราชดำรัสของพระองค์ท่านในอดีตนั้นเป็นบุญหูที่ต้องจำไว้ในใจของทุกคน เพราะ ผมเข้าใจเหมือนที่หลายคนเข้าใจว่า ตอนนี้เรากำลังเดินเข้ามาสู่กระบวนการถูกทำลายแล้ว

ส่วนใครเป็นผู้ทำลายนั้น คงไม่ต้องพูดกันมาก !!

เพราะเหตุนี้ บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ยังใช้ได้ดีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยุคเมื่อปี 2519 หรือ 2548 โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองเรากำลังหาทางออกไม่เจอและกำลังเผชิญหน้ากับศัตรูของชาติในรูปแบบที่ซับซ้อนและยิ่งใหญ่กว่าเมื่ออดีตมากมายนัก

จากบทเพลงเริ่มต้นบอกที่มาแห่งความเป็นชาติ และหน้าที่ของคนในชาติที่ต้องรักษาทั้งชาติและสิ่งที่เรา ‘รัก’ ให้คงอยู่ตลอดไป ไม่ว่าจะต้องเสียเลือดเสียเนื้อสักเท่าไหร่ก็ตาม การท้าทายที่บอกว่า ‘เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว’ นั่นจึงเป็นบทสรุปของคนไทยไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด เชื้อใด หรือ อยู่ในภูมิภาคไหน

แน่นอน ผมคงไม่ได้คิด หรือ ไม่ได้หูแว่วไปเองหรอกครับที่ว่า ขณะนี้...เสียงเพลงเราสู้เริ่มดังในหัวใจของคนไทยหลายต่อหลายคนแล้วครับ

เราสู้

บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเย้า
เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป

ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย
อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย

ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย
สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู

บ้านเมืองเราเราต้องรักษา อยากทำลายเชิญมาเราสู้
เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว

0 Comments:

Post a Comment

<< Home