Sunday, May 13, 2007


บันทึก(ไม่)ลับอุบาสกนิรนาม

(ผู้เขียนได้ปรับปรุงจากต้นฉบับเรื่องประสบการณ์ภาวนา ซึ่งเคยส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือโลกทิพย์ ในนามสันตินันทอุบาสก)
ผมลังเลใจอยู่นานที่จะเล่าถึงการปฏิบัติธรรมของตนเอง เพราะมันเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งถ้าใครตั้งใจปฏิบัติก็ทำกันได้ แต่ด้วยความเคารพในคำสั่งของครูบาอาจารย์รูปหนึ่ง คือหลวงพ่อพุธ ฐานิโย แห่งวัดป่าสาลวัน ที่ท่านสั่งให้เขียนเรื่องนี้ออกเผยแพร่ ผมจึงต้องปฏิบัติตาม โดยเขียนเรื่องนี้ให้ท่านอ่าน

ผมเป็นคนวาสนาน้อย ไม่เคยรู้เรื่องพระธุดงคกรรมฐานอย่างจริงจังมาก่อน จนแทบจะละทิ้งพระพุทธศาสนาไปแล้ว เพราะเกิดตื่นเต้นกับลัทธิวัตถุนิยม แต่แล้ววันหนึ่ง ผมได้พบข้อธรรมสั้นๆบทหนึ่งของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ มีสาระสำคัญว่า "จิตส่งออกนอกคือสมุทัย มีผลเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค มีผลเป็นนิโรธ"

ผมเกิดความซาบซึ้งจับจิตจับใจ และเห็นจริงตามว่า ถ้าจิตไม่ออกไปรับความทุกข์แล้ว ใครกันล่ะที่จะเป็นผู้ทุกข์ จิตใจของผมมันยอมรับนับถือหลวงปู่ดูลย์เป็นครูบาอาจารย์ตั้งแต่นั้น

ต่อมาในต้นปี พ.ศ. 2525 ผมมีโอกาสด้นดั้นไปนมัสการหลวงปู่ดูลย์ที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อไปถึงวัดของท่านแล้ว เกิดความรู้สึกกลัวเกรงเป็นที่สุด เพราะท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ และไม่เคยรู้จักอัธยาศัยของท่านมาก่อน ประกอบกับผมไม่คุ้นเคยที่จะพบปะพูดจากับพระผู้ใหญ่มาก่อนด้วย จึงรีรออยู่ห่างๆ นอกกุฏิของท่าน
ขณะที่รีรออยู่ครู่หนึ่งนั้น หลวงปู่ดูลย์เดินออกมาจากกุฏิของท่าน มาชะโงกมองดูผม ผมจึงรวบรวมความกล้าเข้าไปกราบท่านซึ่งถอยกลับไปนั่งเก้าอี้โยกที่หน้าประตูกุฏิ แล้วเรียนท่านว่า "ผมอยากภาวนาครับหลวงปู่"

หลวงปู่หลับตานิ่งเงียบไปเกือบครึ่งชั่วโมง พอลืมตาท่านก็แสดงธรรมทันทีว่า การภาวนานั้นไม่ยาก แต่มันก็ยากสำหรับผู้ไม่ภาวนา ขั้นแรกให้ภาวนา "พุทโธ" จนจิตวูบลงไป แล้วตามดูจิตผู้รู้ไป จะรู้อริยสัจจ์ 4 เอง (หลวงปู่ท่านสอนศิษย์แต่ละคนด้วยวิธีที่แตกต่างกันตามจริตนิสัย นับว่าท่านมีอนุสาสนีปาฏิหารย์อย่างสูง) แล้วท่านถามว่าเข้าใจไหม ก็กราบเรียนว่าเข้าใจ ท่านก็บอกให้กลับไปทำเอา

พอขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพเกิดเฉลียวใจขึ้นว่า ท่านให้เราดูจิตนั้นจะดูอย่างไร จิตมันเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหนและจะเอาอะไรไปดู ตอนนั้นชักจะกลุ้มใจไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ก็ภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆจนจิตสงบลง แล้วพิจารณาว่าจิตจะต้องอยู่ในกายนี้แน่ หากแยกแยะเข้าไปในขันธ์ 5 ถึงอย่างไรก็ต้องเจอจิต จึงพิจารณาเข้าไปที่รูปว่าไม่ใช่จิต รูปก็แยกออกเป็นสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น หันมามองเวทนาแล้วแยกออกเป็นอีกส่วนหนึ่ง ตัวสัญญาก็แยกเป็นอีกส่วนหนึ่ง จากนั้นมาแยกตัวสังขารคือความคิดนึกปรุงแต่ง โดยนึกถึงบทสวดมนต์ เห็นความคิดบทสวดมนต์ผุดขึ้น และเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ถึงตอนนี้ก็เลยจับเอาตัวจิตผู้รู้ขึ้นมาได้ หลังจากนั้น ผมได้ตามดูจิตไปเรื่อยๆ จนสามารถรู้ว่า ขณะนั้นเกิดกิเลสขึ้นกับจิตหรือไม่ ถ้าเกิดขึ้นและรู้ทัน กิเลสมันก็ดับไปเอง เหลือแต่จิตผู้รู้ ซึ่งรู้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งไปเรื่อยๆอย่างเป็นอิสระจากกิเลส และอารมณ์ต่างๆ ต่อมาภายหลังผมได้หาหนังสือธรรมะมาอ่าน จึงรู้ว่าในทางปริยัติธรรมจัดเป็นการจำแนกรูปนาม จัดเป็นการเจริญวิปัสสนาแล้ว แต่ในเวลาปฏิบัตินั้น จิตไม่ได้กังวลสนใจว่าเป็นวิปัสสนาญาณขั้นใด

ปฏิบัติอยู่ 3 เดือน จึงไปรายงานผลกับหลวงปู่ดูลย์ว่า "ผมหาจิตเจอแล้ว จะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป" คราวนี้ปรากฏว่าท่านแสดงธรรมอันลึกซึ้งมากมาย เกี่ยวกับการถอดถอนทำลายอุปาทานในขันธ์ 5 ท่านสอนถึงกำเนิดและการทำงานของจิตวิญญาณ จนถึงการเจริญอริยมรรค จนมีญาณเห็นจิตเหมือนมีตาเห็นรูป

ท่านสอนอีกว่า เมื่อเราดูจิต คือตามรู้จิตเรื่อยๆ ไปนั้น สิ่งปรุงแต่งจะดับไปตามลำดับ จนถึงความว่าง แต่ในความว่างนั้นยังไม่ว่างจริง มันมีสิ่งละเอียดเหลืออยู่คือวิญญาณ ให้ตามรู้จิตเรื่อยๆ ไป ความยึดในวิญญาณจะถูกทำลายออกไปอีก แล้วจิตจริงแท้หรือพุทธะ(หลวงปู่เทสก์เรียกว่าใจ) จึงปรากฎออกมา
คำสอนครั้งนี้ลึกซึ้งกว้างขวางเหมือนฝนตกทั่วฟ้า แต่ภูมิปัญญาของผมมีจำกัด จึงรองน้ำฝนไว้ได้เพียงถ้วยเดียว คือได้เรียนถามท่านว่า "ที่หลวงปู่สอนมาทั้งหมดนี้ หากผมจะปฏิบัติด้วยการดูจิตไปเรื่อยๆจะพอไหม"

หลวงปู่ดูลย์ตอบว่า "การปฏิบัติก็มีอยู่เท่านั้นแหละ แม้จะพิจารณากายหรือกำหนดนิมิตหมายใดๆ ก็เพื่อให้ถึงจิตถึงใจตนเองเท่านั้น นอกจากจิตแล้วไม่มีสิ่งใดอีก พระธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์ก็รวมลงที่จิตตัวเดียวนี้เอง
หลังจากนั้นผมก็เพียรดูจิตเรื่อยๆ มา มีสติเมื่อใดดูเมื่อนั้น ขาดสติแล้วก็แล้วกันไป นึกขึ้นได้ก็ดูใหม่ เวลาทำงานก็ทำไป พอเหนื่อยหรือเครียดก็ย้อนดูจิต เลิกงานแล้วแม้มีเวลาเล็กน้อยก็ดูจิต ดูอยู่นั่นแหละ ไม่นานก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้

วันหนึ่งของอีก 4 เดือนต่อมา ขณะนั้นเป็นเวลาเย็นปลายเดือนกันยายน 2525 ได้เกิดพายุพัดหนัก ผมออกจากที่ทำงานเปียกฝนไปทั้งตัว และได้เข้าไปหลบฝนอยู่ในกุฏิพระหลังหนึ่งในวัดใกล้ๆ ที่ทำงาน ได้นั่งกอดเข่ากับพื้นห้องเพราะไม่กล้านั่งตามสบายเนื่องจากตัวเราเปียกมากกลัวกุฏิพระจะเลอะมาก พอนั่งลงก็เกิดเป็นห่วงร่างกายว่า ร่างกายเราไม่แข็งแรง คราวนี้คงไม่สบายแน่

สักครู่ก็ตัดใจว่า ถ้าจะป่วยมันก็ต้องป่วย นี่กายยังไม่ทันป่วยใจกลับป่วยเสียก่อนแล้วด้วยความกังวล พอรู้ตัวว่าจิตกังวลผมก็ดูจิตทันที เพราะเคยฝึกดูจนเป็นนิสัยแล้ว ขณะนั้นนั่งกอดเข่าลืมตาอยู่แท้ๆ แต่ประสาทสัมผัสทางกายดับหายไปหมด โลกทั้งโลก เสียงฝน เสียงพายุหายไปหมด เหลือแต่สติที่ละเอียดอ่อนประคองรู้อยู่เท่านั้น (ไม่รู้ว่ารู้อะไรเพราะไม่มีสัญญา) ต่อมามันมีสิ่งละเอียดๆ ผ่านมาสู่ความรับรู้ของจิตเป็นระยะๆแต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เพราะจิตไม่มีความสำคัญมั่นหมายใดๆ ต่อมาจิตมีอาการไหวดับวูบลง สิ่งที่ผ่านมาให้รู้ดับไปหมดแล้ว แล้วก็รู้ชัดเหมือนตาเห็นว่า ความว่างที่เหลืออยู่นั้น ถูกแหวกพรวดอย่างรวดเร็วและนุ่มนวลออกไปอีก กลายเป็นความว่างที่บริสุทธิ์หมดจดอย่างแท้จริง

ในความว่างนั้น จิตซึ่งเป็นอิสระแล้วได้อุทานขึ้นว่า "เอ๊ะ จิต ไม่ใช่เรานี่" จากนั้นจิตได้มีอาการปิติยินดี ยิ้มแย้มแจ่มใสขึ้น พร้อมๆ กับเกิดแสงสว่างโพลงขึ้นรอบทิศทาง จากนั้นจิตจึงรวมสงบลงอีกครั้งหนึ่งแล้วถอนออกจากสมาธิ เมื่อความรับรู้ต่างๆ กลับมาสู่ตัวแล้ว ถึงกับอุทานในใจ(จิตไม่ได้อุทานอย่างทีแรก)ว่า "อ้อ ธรรมะเป็นอย่างนี้เอง เมื่อจิตไม่ใช่ตัวเราเสียแล้ว สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ไม่เป็นตัวเราอีกต่อไป"

เมื่อผมไปกราบหลวงปู่ดูลย์ และเล่าเรื่องนี้ให้ท่านทราบ พอเล่าว่าสติละเอียดเหมือนเคลิ้มๆ ไป ท่านก็อธิบายว่า จิตผ่านฌานทั้ง 8
ผมได้แย้งท่านตามประสาคนโง่ว่า ผมไม่ได้หัดเข้าฌาน และไม่ได้ตั้งใจจะเข้าฌานด้วย
หลวงปู่ดูลย์อธิบายว่า ถ้าตั้งใจก็ไม่ใช่ฌาน และขณะที่จิตผ่านฌานอย่างรวดเร็วนั้น จิตจะไม่มานั่งนับว่ากำลังผ่านฌานอะไรอยู่ การดูจิตนั้นจะได้ฌานโดยอัตโนมัติ (หลวงปู่ไม่ชอบสอนเรื่องฌาน เพราะเห็นเป็นของธรรมดาที่จะต้องผ่านไปเอง หากสอนเรื่องนี้ ศิษย์จะมัวสนใจฌานทำให้เสียเวลาปฏิบัติ)

พอผมเล่าว่าจิตอุทานได้เอง หลวงปู่ก็บอกอาการต่างๆ ที่ผมยังเล่าไม่ถึงออกมาตรงกับที่ผมผ่านมาแล้วทุกอย่าง แล้วท่านก็สรุปยิ้มๆว่า จิตยิ้มแล้ว พึ่งตัวเองได้แล้ว ถึงพระรัตนตรัยแล้ว ต่อไปนี้ไม่จำเป็นต้องมาหาอาตมาอีก

แล้วท่านแสดงธรรมเรื่อง จิตเหนือเหตุ หรือ อเหตุกจิต ให้ฟังมีใจความว่า อเหตุกจิต มี 3 ประการคือ
1. ปัญจทวารวัชนจิต ได้แก่ความไหวตัวของจิตขึ้นรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย
2. มโนทวารวัชนจิต ได้แก่ความไหวตัวของใจขึ้นรับรู้อารมณ์ทางใจ
3. หสิตุปปาท หรือจิตยิ้ม เป็นการแสดงความเบิกบานของจิตที่ปราศจากอารมณ์ปรุงแต่ง เพื่อแสดงความมีอยู่ของจิตซึ่งไม่มีตัวตนให้ปรากฏออกมาสู่ความรับรู้

อเหตุกจิต 2 อย่างแรกเป็นของสาธารณะ มีทั้งในปุถุชนและพระอริยเจ้า แต่จิตยิ้มเป็นโลกุตรจิต เป็นจิตสูงสุด เกิดขึ้นเพียง 3 - 4 ครั้งก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์

หลังจากนั้นผมก็ปฏิบัติด้วยการดูจิตเรื่อยมา และเห็นว่าเวลามีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย จะมีคลื่นวิ่งเข้าสู่ใจ หรือบางครั้งก็มีธรรมารมณ์เป็นคลื่นเข้าสู่ใจ

หากขณะนั้นขาดสติ จิตจะส่งกระแสไปยึดอารมณ์นั้น ตอนนั้นจิตยังไม่ละเอียดพอ ผมเข้าใจว่าจิตวิ่งไปยึดอารมณ์แล้วขยับๆ ตัวเสวยอารมณ์อยู่จึงไปเรียนให้หลวงปู่ดูลย์ทราบ ท่านกลับตอบว่า จิตจริงแท้ไม่มีการไป ไม่มีการมา

ผมได้มาดูจิตต่ออีกสักครึ่งปีต่อมา วันหนึ่งจิตผ่านเข้าสู่อัปปนาสมาธิและเดินวิปัสสนา คือมีสิ่งให้รู้ผ่านมาสู่จิต แต่จิตไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าคือสิ่งใด จากนั้นเกิดอาการแยกความว่างขึ้นแบบเดียวกับเมื่อจิตยิ้ม คราวนี้จิตพูดขึ้นเบาๆว่า จิตไม่ใช่เรา แต่ต่อจากนั้นแทนที่จิตจะยิ้ม จิตกลับพลิกไปสู่ภูมิของสมถะ ปรากฏนิมิตเป็นเหมือนดวงอาทิตย์โผล่ผุดขึ้นจากสิ่งห่อหุ้ม แต่โผล่ไม่หมดดวง เป็นสิ่งแสดงให้รู้ว่ายังไม่ถึงที่สุดของการปฏิบัติ

ปรากฏการณ์นี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การดำเนินของจิตในขั้นวิปัสสนานั้นหากสติอ่อนลง จิตจะวกกลับมาสู่ภูมิของสมถะ และวิปัสสนูปกิเลสจะแทรกเข้ามาตรงนี้ถ้าไม่กำหนดรู้ให้ชัดเจนว่า วิปัสสนาพลิกกลับเป็นสมถะไปแล้ว นักปฏิบัติจึงต้องระวังให้มาก โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยพบกับจิตยิ้ม (สำนวนของหลวงปู่ดูลย์) หรือใจ (สำนวนของหลวงปู่เทสก์) หรือจิตรวมใหญ่ (สำนวนของท่านอาจารย์สิงห์)

เมื่อผมนำเรื่องนี้ไปรายงานหลวงปู่ดูลย์ ท่านก็ว่า ดีแล้ว ให้ดูจิตต่อไป

ผมก็ทำเรื่อยๆ มา ส่วนมากเป็นการดูจิตในชีวิตประจำวัน ไม่ค่อยได้นั่งสมาธิแบบเป็นพิธีการ ต่อมาอีก 1 เดือน วันหนึ่งขณะนั่งสนทนาธรรมอยู่กับน้องชาย จิตเกิดรวมวูบลงไป มีการแยกความว่างซึ่งมีขันธ์ละเอียด(วิญญาณขันธ์) ออกอีกทีหนึ่ง แล้วจิตก็หัวเราะออกมาเองโดยปราศจากอารมณ์ (ร่างกายไม่ได้หัวเราะ) มันเป็นการหัวเราะเยาะกิเลสว่า มันผูกมัดมานาน ต่อๆ ไป จิตจะเป็นอิสระยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

เหตุการณ์นี้ทำให้ได้ความรู้ชัดว่า ทำไมเมื่อครั้งพุทธกาล จึงมีผู้รู้ธรรมในขณะฟังธรรมเกิดขึ้นได้เป็นจำนวนมาก

ผมนำเรื่องนี้ไปรายงานหลวงปู่ดูลย์ คราวนี้ท่านไม่ได้สอนอะไรอีกเพียงแต่ให้กำลังใจว่า ให้พยายามทำให้จบเสียแต่ในชาตินี้ หลังจากนั้นไม่นานท่านก็มรณภาพ

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์อีกรูปหนึ่ง เคยสั่งให้ผมเขียนเรื่องการปฏิบัติของตนเองออกเผยแพร่ เพราะอาจมีผู้ที่มีจริตคล้ายๆ กันได้ประโยชน์บ้าง ผมจึงเขียนเรื่องนี้ขึ้น เพื่อสนองคำสั่งครูบาอาจารย์ และเพื่อรำลึกถึงหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ผู้เปี่ยมด้วยอนุสาสนีปาฏิหารย์ รวมทั้งหวังว่าจะเป็นประโยชน์สักเล็กน้อย สำหรับท่านที่กำลังแสวงหาหนทางปฏิบัติอยู่

พระอริยะบุคคล


นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต ฯ

หากข้าพระพุทธเจ้า ได้เคยประมาทพลาดพลั้ง ล่วงเกินต่อพระรัตนตรัย อันมีพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระธรรม พระอริยสงฆ์ พระอริยะบุคคล และผู้บรรพบุรุษบุพการีผู้มีพระคุณทั้งหลายในชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ ก็ดี ด้วยกายก็ดี วาจาก็ดี ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนาก็ดี รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี ขอองค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระธรรม พระอริยสงฆ์ พระอริยะบุคคล และบรรพบุรุษบุพการีผู้มีพระคุณทุก ๆ ท่านได้โปรดยกโทษ ให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าเข้าสู่ พระนิพพานด้วยเทอญ ฯ สาธุ


พระโสดาบัน
หมายถึงการลดลงของ โลภะ โทสะ โมหะ (ความโลภ ความโกรธ ความหลงผิด)

พระสกิทาคา
หมายถึงการลดบางลงของกิเลสทั้ง ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ จนเกือบไม่เหลือ

พระอนาคามี
หมายถึงการหมดไปของกิเลส และหมดความกำหนัด รักใคร่

พระอรหันต์
หมายถึงการตัดกิเลสทั้งปวงได้อย่างสิ้นเชิง สิ้นภพสิ้นชาติแล้ว ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ตามตำราท่านว่าหากเมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ถ้าเป็นคฤหัสถ์จะครองตนอยู่ในความเป็นคฤหัสถ์ได้ไม่เกิน ๗ วัน จะต้องเข้านิพพาน หากแต่เป็นบรรพชิตก็จะอยู่ในนิพพานได้ตลอดจนกระทั่งดับขันธ์ ท่านเปรียบว่าเหมือนกับการที่เป็นดวงแก้วอันบริสุทธิ์แล้ว ก็ไม่สามารถจะทนปะปนอยู่กับของโสโครก หรือโคลนตมได้ เหมือนกับเทพชั้นสูงที่ท่านรู้สึกรังเกียจในกลิ่นกิเลสของมนุษย์ฉันใดฉันนั้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สรุปไว้อย่างแยบคายว่า
ปุถุชนย่อมไม่รู้จิตของพระโสดาบัน
พระโสดาบันย่อมไม่รู้จิตของพระสกทาคามี
พระสกทาคามีย่อมไม่รู้จิตของพระอนาคามี
พระอนาคามีย่อมไม่รู้จิตของพระอรหันต์
บุคคลชั้นต่ำย่อมไม่รู้จิตของบุคคลชั้นสูงๆ (หมายถึงคุณธรรม)
บุคคลชั้นสูงย่อมรู้จิตของบุคคลชั้นต่ำ

สติปัฏฐาน ๔


๑.การตั้งสติพิจารณากาย (กายานุปัสสนา)
๒.การตั้งสติพิจารณาอารมณ์ (เวทนานุปัสสนา)
๓.การตั้งสติพิจารณาใจที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว (จิตตานุปัสสนา)
๔.การตั้งสติพิจารณาธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล (ธัมมานุปัสสนา)

กายานุปัสสนา การตั้งสติพิจารณากาย แบ่งย่อยออกไปเป็น 6 ส่วน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา)
1) อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก
2) อิริยาบถ กำหนดให้รู้เท่าทันอิริยาบถ
3) สัมปชัญญะ ความรู้ตัวในการเคลื่อนไหวทุกอย่าง
4) ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบของร่างกาย (อวัยวะต่าง ๆ) ว่าเป็นของไม่สะอาด
5) ธาตุมนสิการ พิจารณาร่างกายของตนให้เห็นว่าเป็นสักแต่ว่าธาตุแต่ละอย่าง ๆ
6) นวสีวถิกา พิจาณาซากศพในสภาพต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มตายใหม่ ๆ จนถึงกระดูกป่นเป็นผุยผง (อันแตกต่างกันใน 9 ระยะเวลา ท่านเรียกว่าป่าช้า 9) ให้เห็นว่าเป็นคติธรรม ร่างกายของผู้อื่น (ซากศพที่กำลังพิจารณา) เป็นเช่นใด ร่างกายของเราก็จักเป็นเช่นนั้น (รวมเป็น 6 ส่วน)

เวทนานุปัสสนา (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา คือ การรู้สึกอารมณ์ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงเวทนา ... ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ)
1) สุข
2) ทุกข์
3) ไม่ทุกข์ไม่สุข
4) สุขประกอบด้วยอามิส
5) สุขไม่ประกอบด้วยอามิส
6) ทุกข์ประกอบด้วยอามิส
7) ทุกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส
8) ไม่ทุกข์ไม่สุขประกอบด้วยอามิส
9) ไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ประกอบด้วยอามิส (รวมเป็น 9 อย่าง)

จิตตานุปัสสนา (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ...)
1) จิตมีราคะ
2) จิตไม่มีราคะ
3) จิตมีโทสะ
4) จิตไม่มีโทสะ
5) จิตมีโมหะ
6) จิตไม่มีโมหะ
7) จิตหดหู่
8) จิตฟุ้งซ่าน
9) จิตใหญ่ (จิตในฌาน)
10) จิตไม่ใหญ่ (จิตที่ไม่ถึงฌาน)
11) จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
12) จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
13) จิตตั้งมั่น
14) จิตไม่ตั้งมั่น
15) จิตหลุดพ้น
16) จิตไม่หลุดพ้น (รวม 16 อย่าง)

ธัมมานุปัสสนา (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ...)
1) พิจารณาธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุสมาธิ คือ นีวรณ์ 5 มี กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจะ และวิจิกิจฉา) เรียกว่า นี วรณบรรพ
2) ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เรียกว่า ขันธบรรพ
3) อายตนะภายใน 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เรียกว่า อายตนบรรพ
4) ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ 7 คือ โพชฌงค์ 7 (สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา) เรียกว่า โพชฌงคบรรพ

ตั้งสติกำหนดรู้ชัดธรรมทั้งหลายมี
...นีวรณ์ 5 (กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา)
...ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ)
...อายตนะภายใน 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ)
...อายตนะภายนอก 6 (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์)
...โพชฌงค์ 7 (สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ [ความสงบกาย-สงบใจ] สมาธิ อุเบกขา)
...อริยสัจจ์ 4 (ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา)
ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญขึ้นและดับไปอย่างไร เป็นต้น ตามความเป็นจริงของสรรพสิ่ง อย่างนั้น ๆ (รวม 5 ส่วน)


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงถึงพฤติกรรมของจิตมนุษย์พร้อมวิธีแก้ไขพฤติกรรม
ในหลักพระพุทธศาสนาได้จำแนกพฤติกรรมของจิต เรียกว่าจริต (ความประพฤติเป็นปกติ; พื้นฐานของจิต ที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง) ออกเป็น 6 ชนิด

พฤติกรรมของจิด
1) ราคจริต (ผู้หนักไปทางรักสวยรักงาม)
2) โทสจริต (ผู้หนักไปทางใจร้อน หงุดหงิด โกรธง่ายคิดประทุษร้าย)
3) โมหจริต (ผู้หนักไปทางซึมเซา งมงาย)
4) สัทธาจริต (ผู้หนักไปทางเชื่อง่าย)
5) พุทธิจริต/ญาณจริต (ผู้ประพฤติหนักไปทาง การใช้ความคิดพินิจพิจารณา)
6) วิตกจริต (ผู้ประพฤติหนักไปทางคิดจับจด ฟุ้งซ่าน)

วิธีการแก้ไข
1. อสุภะและกายคตาสติ (การพิจารณาให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม, การมีสติพิจารณาด้วยการเจริญกรรมฐาน)
2. เจริญกรรมฐานข้อธรรมคือ พรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) และกสิณ คือ วัณณกสิณ (กสิณสี คือการเพ่งสีเขียว เหลือง แดง ขาว)
3. เจริญกรรมฐานข้ออานาปานสติ (กำหนดลมหายใจเข้า-ออก การเรียน การฟัง การถาม การศึกษาหาความรู้ การสนทนาตามกาลกับครูอาจารย์)
4. การพิจารณาพุทธานุสสติ แนะนำให้เชื่ออย่างมีเหตุผล
5. การพิจารณาพระไตรลักษณ์ (อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา) การเจริญกรรมฐานข้อมรณสติ อุปมานุสติ จตุธาตุววัฎฐาน และอาหาเรปฏิกูลสัญญา
6. การสะกดอารมณ์ด้วยการใช้หลักอานาปานสติ หรือเพ่งกสิณ เป็นต้น
(ขุ.ม. 29/727/435;889/555: ขุ.จุ. 30/492/244;/วิสุทธิ. 1/127)

จริต 6 นี้ เนื่องในอกุศลมูล 31 คือรากเหง้าของความชั่ว บาปทั้งหลายทั้งปวง มีหลักธรรมสำหรับแก้จริตทั้ง 6 ดังได้เสนอผ่านมาแล้ว
สติปัฏฐาน 4 เป็นทางเดียว เป็นทางบริสุทธิ์ที่ทำให้มนุษยชาติพ้นจากราคะ*/โลภะ โทสะ และโมหะ พ้นจากความโศก ความคร่ำครวญ กำจัดทุกข์กาย ทุกข์ใจ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ถูกต้อง ด้วยการทำพระนิพพานให้แจ้ง

ได้โปรดศึกษาความพิสดารเรื่อง "สติปัฏฐาน 4" ได้ใน "สวดมนต์แปล" ของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระศาสนโศภณ (แจ่ม จตฺตสลฺโล) วัดมกุฏกษัตริยาราม (หน้า 130-463) และ "พระไตรปิฎกฉบับประชาชน" ของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ (หน้า 336-337), พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ (ฉบับภาษาบาลี) หน้า 325-351, หนังสือ "นวโกวาท" พระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พิมพ์ครั้งที่ 74/2525 หน้า 34.